สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม

BRAND'S BRAIN CAMP

สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัย วางแผน และดำเนินการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค อาการบาดเจ็บ หรือความผิดปกติทางกายภาพในสัตว์ โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์

สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม
  • ตรวจสอบอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และผลการตรวจเพิ่มเติม (เช่น ภาพรังสี, อัลตราซาวด์, CT Scan, MRI) เพื่อวินิจฉัยปัญหา และประเมินความพร้อมของสัตว์ก่อนการผ่าตัด
  • วางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสม การจัดการความเจ็บปวด และความพร้อมของทีมงานและอุปกรณ์ผ่าตัด
  • ทำการผ่าตัดในส่วนต่างๆ ของร่างกายสัตว์อย่างแม่นยำและปลอดภัย เช่น ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศัลยกรรมเนื้อเยื่ออ่อน (ช่องท้องหรือ ช่องอก) ศัลยกรรมระบบประสาท หรือศัลยกรรมฉุกเฉิน
  • ดูแลสัตว์หลังการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดการความเจ็บปวด การให้ยา การทำแผล การติดตามภาวะแทรกซ้อน และการทำกายภาพบำบัด
  • ให้คำปรึกษาเจ้าของสัตว์ รวมถึงการวินิจฉัย ความเสี่ยง เพื่อการตัดสินใจ
  • จัดทำประวัติการรักษาและผ่าตัดอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงและสำหรับการวิจัย
  1. ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ผ่านการพูดคุยกับเจ้าของเพื่อซักประวัติการเจ็บป่วย อาการที่พบ การดูแลที่ผ่านมา และตรวจร่างกายสัตว์อย่างละเอียด เพื่อประเมินสภาพร่างกายโดยรวมและระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกายภาพที่อาจต้องผ่าตัด
  2. วินิจฉัยและวางแผน ประเมินอาการร่วมกับการส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น เช่น การถ่ายภาพทางรังสี (X-ray, CT Scan, MRI), อัลตราซาวด์, การตรวจเลือดเพื่อประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด หรือการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนผ่าตัด
  3. ให้การรักษาโดยเน้นการผ่าตัด ดำเนินการผ่าตัดตามแผนที่วางไว้ด้วยความแม่นยำและระมัดระวัง และทำการบันทึกประวัติการรักษา
  4. ดูแลและฟื้นฟูหลังการผ่าตัด จัดการความเจ็บปวด การให้ยา การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน รวมถึงให้คำแนะนำเจ้าของ ในการการดูแลสัตว์ที่บ้าน รวมถึงการทำแผล การให้ยา และการทำกายภาพบำบัด
  5. ติดตามอาการและนัดเพิ่มเติม นัดหมายติดตามอาการของสัตว์หลังการผ่าตัด เพื่อประเมินผลการฟื้นตัวและปรับแผนการดูแลหากจำเป็น
  1. ผู้ช่วยสัตวแพทย์
  2. เทคนิคการสัตวแพทย์
  3. สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอื่น ๆ
  4. เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค (ในบางกรณี)
  • สถานที่ทำงาน โดยทั่วไปสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมสัตว์มักทำงานใน โรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ หรือ ศูนย์สัตว์แพทย์เฉพาะทาง หรืออาจมีทำงานในสถาบันการศึกษา หรือศูนย์วิจัย
  • เวลาทำงาน  เวลาทำงานมีความยืดหยุ่นสูงและต้องพร้อมสำหรับการเข้าเวรฉุกเฉิน มักทำงานเป็นกะ หรือมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานกว่าสัตวแพทย์ทั่วไป เช่น 12 ชั่วโมงต่อวัน หรือ ทำงานเป็นกะ 8-12 ชั่วโมง หมุนเวียนทั้งกลางวันและกลางคืน 
  • ตัวอย่างกะ 8 ชั่วโมง เช่น กะเช้า 8:00-16:00 น., กะเย็น 16:00-00:00 น., กะดึก/กลางคืน 00:00-8:00 น. จำนวนวันในการทำงานต่อสัปดาห์ขึ้นกับระยะเวลาในการลงเวรต่อวัน 
  1. ความรู้เชิงลึกด้านกายวิภาคและสรีรวิทยาของสัตว์
  2. ความรู้ด้านพยาธิวิทยาและการวินิจฉัยโรคทางศัลยกรรม
  3. ทักษะและความเชี่ยวชาญเทคนิคการผ่าตัดเฉพาะทางต่างๆ การใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ซับซ้อน
  4. ความรู้ด้านวิสัญญีวิทยา และเภสัชวิทยา
  5. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ
  6. ความอดทน ความละเอียดรอบคอบ และความมุ่งมั่น
  7. ทักษะการจัดการอารมณ์และภาวะวิกฤต
  • ผลตอบแทน เงินเดือนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นสายงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางและประสบการณ์สูง ผลตอบแทนจึงสูงกว่าสัตวแพทย์ทั่วไป
    • สำหรับสัตวแพทย์ที่มีวุฒิบัตรเฉพาะทาง อาจเริ่มต้น ประมาณ 40,000 – 60,000 บาท/เดือน
    • สำหรับผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง หรือเป็นที่รู้จักในวงการ อาจมีรายได้ 80,000 – 150,000 บาท/เดือน
    • มีช่องทางสร้างรายได้อื่น ๆ เช่น การเป็นที่ปรึกษา การสอนพิเศษ หรือการรับเคสผ่าตัดพิเศษ
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพ สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม
    • เติบโตในสายงาน สามารถเติบโตเป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ หรือเปิดศูนย์ศัลยกรรมสัตว์เฉพาะทางของตนเองได้
    • การเติบโตของอาชีพ ตลาดสัตว์เลี้ยงโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการดูแลสุขภาพสัตว์อย่างจริงจัง ทั้งรักษาและป้องกันโรค
  • ความท้าทายของอาชีพ สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม
    • ภาระงานหนักและความกดดันสูง โดยเฉพาะในเคสผ่าตัดฉุกเฉิน หรือเคสที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องใช้สมาธิและเวลาในการทำงานที่ยาวนาน ต้องจัดการกับความเครียด ความกังวล และความเศร้าเสียใจของเจ้าของสัตว์ในกรณีที่สัตว์ป่วยหนักหรือผลการรักษาไม่เป็นไปตามคาดหวังได้
    • การเรียนรู้และพัฒนาทักษะ เทคนิคการผ่าตัดและองค์ความรู้ทางการแพทย์มีการพัฒนาอยู่เสมอ ทำให้ต้องศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติม
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ สัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม
    • CUVET. (2024, Sep 21). CU MiniMon Ep.12 ศัลยกรรมในสัตว์ คือการผ่าตัดนะจ๊ะ. https://youtu.be/LMcqYhRDZU4
  • ช่องทางอื่น ๆ 
    • VIN (Veterinary Information Network)
  • พี่ต้นแบบอาชีพสัตวแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568]