นักโภชนาการกีฬา

BRAND'S BRAIN CAMP

นักโภชนาการกีฬา

ผู้ที่วางแผนการรับประทานอาหารเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพทางร่างกายของนักกีฬา โดยเน้นให้ได้รับพลังงาน สารอาหาร และการชดเชยน้ำอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงของการฝึกซ้อม การแข่งขัน และการฟื้นตัว รวมไปถึงให้ความรู้นักกีฬาในการเข้าใจผลกระทบของสิ่งที่รับประทานในแต่ละวัน

นักโภชนาการกีฬา
  • ประเมินพฤติกรรมการรับประทานอาหาร องค์ประกอบของร่างกาย และเป้าหมายของนักกีฬา
  • วางแผนการรับประทานอาหารและการชดเชยน้ำเป็นรายบุคคล/เป็นทีมเพื่อให้เหมาะสมกับโปรแกรมการฝึกซ้อม หรือ การแข่งขัน ทั้งในช่วงก่อนซ้อม, ระหว่างซ้อม, หลังซ้อม และความต้องการของแต่ละบุคคล
  • บรรยาย/จัดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับนักกีฬา ผู้ปกครอง และผู้ฝึกสอนในด้านโภชนาการ
  1. เก็บข้อมูลผ่านการพูดคุย/ซักถาม เพื่อระบุเป้าหมายของนักกีฬา (เช่น ต้องการเพิ่มมวลกล้าม, ต้องการลดมวลไขมัน, แข่งให้ดีขึ้น ฯลฯ) สอบถามประวัติสุขภาพ พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ความชอบส่วนบุคคล การเข้าถึงอาหาร ศาสนา งบประมาณ ฯลฯ
  2. ประเมินปัจจัยเพื่อเตรียมทำแผน โดยรวมไปถึงองค์ประกอบทางกายภาพ และประเมินอาหารที่ต้องบริโภค
  3. วิเคราะห์ข้อมูล คำนวณความต้องการพลังงานที่ใช้ในแต่ละวันจากกิจกรรมที่ทำ ประเมินสารอาหารของนักกีฬาว่าที่ได้รับเพียงพอกับความต้องการหรือไม่
  4. จัดทำแผนโภชนาการเฉพาะบุคคล โดยเน้นให้เหมาะสมกับเป้าหมาย โปรแกรมการฝึกซ้อม ความชอบ และวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล แนะนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำเป็น ได้ผลตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และปลอดภัยไม่ปนเปื้อนสารต้องห้ามทางการกีฬา
  5. ติดตามและประเมินผล ติดตามผลภายหลังการให้คำแนะนำทางด้านโภชนาการ เช่น การตรวจวัดองค์ประกอบของร่างกายเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง ติดตามการฟื้นตัวหลังแข่งขัน
  1. นักกีฬา
  2. เชฟ
  3. โค้ช/ ผู้ฝึกสอนกีฬา
  4. แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา
  5. นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
  6. นักกายภาพบำบัดทางกีฬา
  • สถานที่ทำงาน โดยทั่วไปนักโภชนาการกีฬาทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาเป็นหลัก เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลหรือคลินิกด้านโภชนาการกีฬา มหาวิทยาลัยหรือสถาบันกีฬา หรือสโมสรกีฬาต่าง ๆ 
  • อาจมีการออกภาคสนามร่วมทีมในการแข่งขัน/มหกรรมกีฬา หรือเป็นวิทยากรให้ความรู้ในงานอบรม
  • เวลาทำงาน เวลาทำงานขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร เช่น หากเป็น Part-time จะทำงานคล้ายที่ปรึกษา เป็นราย 10 – 15 ครั้ง /เดือน หรือตามเวลาการซ้อมหรือเรียกเก็บตัวของนักกีฬา รวมไปถึงการทำงานพูดคุยให้คำปรึกษาออนไลน์
  1. ความรู้พื้นด้านโภชนาการการกีฬา และสารต้องห้ามทางการกีฬา
  2. ความรู้พื้นฐานด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย
  3. ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
  4. ทักษะในการวิเคราะห์และประเมินผลด้านโภชนาการ
  5. ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกับทีมกีฬาและสหสาขาวิชาชีพ
  • ผลตอบแทน รายได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และวุฒิการศึกษา  โดยเนื่องจากอาชีพนักโภชนาการกีฬานั้นยังขาดแคลนอยู่มาก จึงมักเป็นอาชีพเสริมของนักโภชนาการโดยทั่วไป และรับงานเป็นครั้งแบบ Part-time
    • รายได้ Part-time ประมาณ  10,000-20,000 บาท/งาน  หรือขึ้นอยู่กับขอบเขตของเนื้องาน
    • หากเป็นเงินเดือนของนักโภชนาการในฐานะสังกัดตามองค์กรหรือมหาวิทยาลัย จะเริ่มต้น ประมาณ 27,000 – 28,000 บาท/เดือน ในระดับวุฒิปริญญาโท และ 34,000 – 40,000 บาท/เดือน ในระดับวุฒิปริญญาเอก รวมไปถึงมีรายได้ประจำตำแหน่งวิชาการ
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักโภชนาการกีฬา 
    • เติบโตในสายงาน เติบโตตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ  และเปิดโอกาสให้ได้ร่วมงานกับองค์กรกีฬาต่าง ๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาในสโมสรกีฬา หรือทำงานกับนักกีฬาทีมชาติหรือโอลิมปิก มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและได้เข้าร่วมมหกรรมทางกีฬาที่สำคัญ
    • เติบโตในด้านการศึกษา เช่นการเป็นอาจารย์หรือผู้บรรยายในมหาวิทยาลัย หรือเป็นผู้วิจัยเฉพาะทาง
    • จัดอบรมและเวิร์กชอป จัดสอนและเสริมสร้างความรู้ผ่านการจัดอบรมให้บุคคลภายนอก​
  • ความท้าทายของอาชีพนักโภชนาการกีฬา 
    • หมั่นศึกษาความรู้จากวิจัย ต้องตามทันงานวิจัยใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเนื้อหาทางด้านโภชนาการ รวมไปถึงในเรื่องของข้อบังคับทางการกีฬา เช่น สารต้องห้ามทางการกีฬา
    •  ทักษะการสื่อสาร นักโภชนาการกีฬาจำเป็นจะต้องมีการสื่อสารที่ดี เนื่องจากต้องประสานกับบุคลากรหลายฝ่าย และเพื่อความเข้าใจที่ง่ายต่อผู้ฟัง รวมไปถึงสามารถโน้มน้าว หรือทำให้ได้รับความเชื่อถือ เพื่อให้นักกีฬาปฏิบัติตาม 
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ นักโภชนาการกีฬา 
    • We Mahidol. (2021, Aug 27). นักโภชนาการการกีฬา อาชีพนี้ทำอะไร | We Mahidol. https://youtu.be/tksTthIKG5c
  • พี่ต้นแบบอาชีพนักโภชนาการกีฬา [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568]