นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล

BRAND'S BRAIN CAMP

นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล

ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้บริการด้านสังคมแก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล

Group_therapy_pana_9f610c9d7e
  • ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ในการรับมือกับความเจ็บป่วยและความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตต่อไปได้หลังจากออกจากโรงพยาบาล 
  • ปกป้องสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัว ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเหมาะสม รวมถึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อระบุปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การอยู่อาศัย การดูแลผู้ป่วย หรือปัญหาทางอารมณ์  
  • จัดหาทรัพยากรที่จำเป็น เช่น การเงิน สวัสดิการ หรือบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว
  • ให้ความช่วยเหลือด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเคสตั้งแต่แรกรับจนยุติกระบวนการ หรือจัดกิจกรรมกลุ่มให้คำปรึกษา/กลุ่มเสริมพลังอำนาจ
  • ประสานงานกับทีมแพทย์ พยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องและครอบคลุม
  1. รับข้อมูล  รับการส่งต่อผู้ป่วยจากแพทย์ พยาบาล หรือทีมสุขภาพอื่นๆ เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีความต้องการช่วยเหลือด้านสังคมและจิตใจ
  2. ประเมินผู้ป่วย สัมภาษณ์ผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อประเมินสถานการณ์ทางสังคม เช่น ปัญหาทางการเงิน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และสภาวะทางจิตใจ
  3. วางแผนการช่วยเหลือ  นักสังคมสงเคราะห์จะร่วมมือกับผู้ป่วยและครอบครัวในการตั้งเป้าหมายสำหรับการแก้ปัญหาทางสังคมและจิตใจ เช่น การปรับตัวกับการรักษาในผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะ การจัดหาทรัพยากรในการดูแลต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเงิน โดยแผนการช่วยเหลือนี้จะออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่พบและให้การสนับสนุนที่เหมาะสมตามความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย
  4. ดำเนินการช่วยเหลือด้วยกระบวนต่างๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางด้านอารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับมือกับความท้าทายจากการเจ็บป่วย ช่วยจัดหาทรัพยากร เช่น การช่วยเหลือทางการเงิน การสนับสนุนทางสังคม บริการฟื้นฟู หรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว หรือเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สวัสดิการสังคม องค์กรการกุศล  เพื่อจัดหาทรัพยากรและบริการที่จำเป็น
  5. ติดตามและประเมินผล  ติดตามผลความก้าวหน้าของผู้ป่วยและครอบครัวว่ามีการใช้บริการตามที่แนะนำแล้วหรือยัง และดูว่ามีปัญหาเพิ่มเติมที่ต้องการการแก้ไขหรือไม่และประเมินว่าการช่วยเหลือที่ให้ไปนั้นมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของผู้ป่วยหรือไม่ หากไม่เพียงพอ อาจมีการปรับแผนการช่วยเหลือใหม่
  6. บันทึกและรายงาน  ทำการบันทึกข้อมูลการสัมภาษณ์และการประเมิน รวมถึงแผนการช่วยเหลือ การติดตามผล และการประเมินผลในระบบของสถานพยาบาล เพื่อใช้ในการทำงานต่อเนื่องและเป็นหลักฐานในการวิเคราะห์และปรับปรุงบริการในอนาคต
  7. ทำงานร่วมกับทีมสุขภาพ  ทำงานร่วมกับทีมสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล และนักจิตวิทยา เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ
  1. แพทย์
  2. พยาบาล
  3. นักจิตวิทยา
  4. จิตแพทย์
  5. นักสังคมสงเคราะห์
  6. นักพัฒนาชุมชน
  7. นิติกร 
  • สถานที่ทำงาน  ทำงานในสถานพยาบาลต่างๆ เช่น ในโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง  เช่น โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจิตเวชรวมถึงศูนย์สุขภาพชุมชน  นักสังคมสงเคราะห์อาจอยู่ประจำคลินิกที่ให้คำปรึกษาเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้ป่วยระยะท้าย หรือ คลินิกให้คำปรึกษาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นต้น 
  • เวลาทำงาน  ทำงานตามนโยบายของแต่ละสถานพยาบาล หากเป็นหน่วยงานรัฐ จะทำงานตามเวลาราชการคือ  08.00-16.00 น. หรือทำงานตามเวลาเปิด-ปิดของคลินิก เช่น 09.00-20.00 น.  
  • ในกรณีฉุกเฉินหรือผู้ป่วยหนัก อาจต้องทำงานนอกเวลา หรือ บางครั้งอาจต้องปรับเวลาทำงานเพื่อให้เข้ากับความสะดวกของผู้ป่วยและครอบครัว
  1. ความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์  เช่น หลักการ วิธีการ กระบวนการ ทักษะ และทฤษฎีแนวคิดทางสังคมสงเคราะห์
  2. ความรู้ด้านจิตวิทยา เช่น พัฒนาการเด็ก  การให้คำปรึกษา
  3. ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองแรงงาน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
  4. ความรู้ด้านรัฐศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ สวัสดิการสังคม และประกันสังคม เพื่อสามารถประสานงานและให้บริการแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยในการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
  5. ทักษะการประเมินสถานการณ์อย่างละเอียด
  6. ทักษะการวางแผนและออกแบบการช่วยเหลือ
  7. ทักษะการติดต่อและประสานงานระหว่างหน่วยงาน
  8. ทักษะการให้คำปรึกษาและการรับฟัง
  9. ทักษะการสร้างสรรค์กิจกรรม เช่น เช่น กลุ่มสนทนา  กลุ่มศิลปะบำบัด กลุ่มออกกำลังกาย การทำสมาธิ
  • ผลตอบแทน เริ่มต้น 15,000-25,000 บาทต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับตำแหน่งตามวิทยฐานะของระบบราชการ) 
  • ความภาคภูมิใจในการทำงาน นักสังคมสงเคราะห์มีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวของพวกเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตของผู้อื่น การได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะสร้างความสุขและความพึงพอใจให้กับตนเอง 
  • ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ได้ร่วมงานกับบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยให้ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กัน รวมถึงได้สร้างเครือข่ายกับบุคลากรในโรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล

 

  • สายงานราชการ การเลื่อนขั้นปรับตามโครงสร้างของระบบราชการ (นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ, นักสังคมสงเคราะห์,นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ)
  • นักสังคมสงเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  สามารถเลือกเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ด้านเวชศาสตร์จิตเวช ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเติบโตในสายงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เชี่ยวชาญ
  • นักวิชาการสังคมสงเคราะห์  เป็นตำแหน่งสำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นพิเศษ และมีผลงานวิจัยหรือการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ มีหน้าที่ในการวิจัย พัฒนา และให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย 
  • นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ  นักสังคมสงเคราะห์ที่มีความสนใจในการช่วยเหลือในระดับนานาชาติสามารถทำงานในองค์กรระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือองค์กรการกุศลระหว่างประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาระบบสังคมสงเคราะห์ในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ 
  • ผู้บริหาร สำหรับผู้ที่ต้องการเติบโตในสายงานบริหาร จะต้องผ่านการอบรมและพัฒนาตนเองเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร

 

  • ความท้าทายของอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล 

 

  • การจัดการกับอารมณ์และภาวะทางจิตใจ  ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันและเครียด เช่น การดูแลผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยรุนแรงหรืออยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต หรือเผชิญกับอารมณ์ที่ซับซ้อนของผู้ป่วย เช่น ความกลัว ความโกรธ หรือความเศร้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและภาวะหมดไฟ (Burnout) ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ต้องมีความเข้มแข็งทางอารมณ์และทักษะในการจัดการอารมณ์ของตนเอง
  • การทำงานภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากร  ต้องเผชิญกับข้อจำกัดของทรัพยากรทางการแพทย์และสังคม เช่น การขาดแคลนทุนสำหรับการดูแลผู้ป่วย การขาดบริการช่วยเหลือเฉพาะทาง หรือการขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ต้องหาวิธีจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน  สภาพแวดล้อมของสถานพยาบาลเป็นที่ที่ต้องทำงานร่วมกับบุคลากรหลายประเภท เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งต้องการความสามารถในการทำงานเป็นทีม การประสานงานที่มีประสิทธิภาพ การเจรจาและการปรับตัวเพื่อลดความขัดแย้ง
  • ความซับซ้อนของปัญหาผู้ป่วย  ต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อน เช่น ปัญหาความยากจน การไม่มีบ้าน หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งต้องใช้การวิเคราะห์และการวางแผนที่รอบคอบเพื่อให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม
  • การทำงานกับระบบกฎหมายและนโยบาย  ต้องรับมือกับข้อจำกัดจากกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น การจัดการเรื่องสิทธิผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพ หรือการจัดการเรื่องกฎหมายในการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ซึ่งอาจทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปได้ยาก
  • ความท้าทายทางวัฒนธรรมและภาษา  ในบางกรณี นักสังคมสงเคราะห์อาจต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยจากหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณี หรือวิธีการดูแลสุขภาพ ทำให้ต้องใช้ความรู้ด้านวัฒนธรรมและการปรับตัวในการทำงาน และปัญหาด้านภาษาก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยหรือครอบครัวไม่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกับนักสังคมสงเคราะห์ได้
  • ข้อจำกัดด้านเวลาการดูแล  ในบางครั้ง นักสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากอาจต้องการการดูแลและคำปรึกษาในเวลาเดียวกัน ทำให้การจัดการเวลาต้องมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
  • เสี่ยงการติดต่อจากโรคระบาด หรือโรคติดต่อ  เนื่องจากการทำงานในสถานพยาบาลที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย จึงทำให้จำเป็นต้องรักษาความสะอาดและหาวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคต่างๆ
  • ช่องทาง Facebook ที่เกี่ยวกับอาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล
  • สังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2024, September 4). https://web.facebook.com/socwork.tu [Facebook Page]
  • นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง. (2024, September 4). https://web.facebook.com/ThestoryofSocialWorker [Facebook Page]
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล 
  • OMY Mayon. (2020, May 22). ไขข้อสงสัย ตอบคำถาม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มธ. | มหาลัยep.2 | OMY MayOn [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=4bG-juW036Q 
  • ONCEs Thailand. (2020, Jul 13). นักสังคมสงเคราะห์ [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=cC1AT0npxRU

 

  • บทความที่เกี่ยวกับอาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ในสถานพยาบาล 
  • โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) “เมื่อพูดถึงนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลนึกถึงอะไร?” 
  •  https://www.rajavithirangsit.go.th/main/index.php/index/detail/53