นักบรรพชีวิน

BRAND'S BRAIN CAMP

นักบรรพชีวิน

ผู้ศึกษาชีวิตในอดีตของโลกนับตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม โดยอาศัยหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ (fossils) ที่ฝังตัวอยู่ในชั้นหิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งมีชีวิตโบราณ วิวัฒนาการทางชีวภาพ ลำดับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา สภาพแวดล้อมในอดีต และการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในแต่ละยุคสมัย

นักบรรพชีวิน
  • ขุดค้นและสำรวจ ซากดึกดำบรรพ์ในสนามและห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีต พร้อมทำการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ
  • จัดเก็บ รวบรวม และดูแล ซากดึกดำบรรพ์ภายในคลังตัวอย่างอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการศึกษาวิจัย การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และการบริหารจัดการทรัพยากรฟอสซิลของประเทศ
  • ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วิเคราะห์และจำแนกชนิดสิ่งมีชีวิต โครงสร้างร่างกาย สายวิวัฒนาการ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในอดีต เพื่อสร้างความเข้าใจต่อชีวประวัติของโลก
  • พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ ถ่ายทอดผลการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ ผ่านกิจกรรม นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ งานเขียน หรืองานวิชาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา
  1. ศึกษางานวิจัยเดิมและกำหนดพื้นที่เป้าหมาย รวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการ งานวิจัยเก่า แผนที่ธรณีวิทยา เพื่อวางแผนการลงพื้นที่สำรวจ
  2. ลงพื้นที่สำรวจและประเมินแหล่งซากดึกดำบรรพ์ สำรวจภูมิประเทศ ดูลักษณะชั้นหิน ประเมินศักยภาพของแหล่งเพื่อเตรียมการขุดค้น
  3. ขุดค้นและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำการขุดค้นแบบวิทยาศาสตร์ พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น รหัส ชื่อส่วนประกอบ พิกัด ชั้นหิน อายุ และชื่อผู้ขุด
  4. เคลื่อนย้ายและเตรียมตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ นำตัวอย่างมาทำความสะอาดโดยใช้เทคนิคเฉพาะ เช่น ปากกาลม การใช้กรดกัดหิน หรือการทำแผ่นบางสำหรับดูด้วยกล้องจุลทรรศ
  5. จัดเก็บตัวอย่างเข้าคลังอย่างเป็นระบบ จัดหมวดหมู่ซากดึกดำบรรพ์ตามชนิดหรือแหล่งที่พบ เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาต่อในอนาคต
  6. ศึกษาวิจัยเชิงลึก นำตัวอย่างมาวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ เช่น จำแนกชนิดใหม่ (Taxonomy) ศึกษาชั้นหิน (Biostratigraphy) หรือพฤติกรรมและโรคในอดีต (Paleopathology)
  7. เขียนบทความและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ นำเสนอผลการศึกษาผ่านสื่อวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้และต่อยอดการวิจัยในวงวิชาชีพ
  1. นักธรณีวิทยา
  2. นักชีววิทยา
  3. นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ
  4. นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  5. นักพิพิธภัณฑ์ หรือ ภัณฑารักษ์
  6. เจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านมรดกทางธรณี
  • สถานที่ทำงาน อาคารกรมทรัพยากรธรณี, พิพิธภัณฑ์, ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา รวมถึงต้องลงพื้นที่จริงในกรณีขุดค้นศึกษา
  • เวลาทำงาน โดยทั่วไป นักบรรพชีวินวิทยามักปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบันการศึกษา จึงมีเวลาทำงานตามวันราชการ คือ วันจันทร์–ศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น. หยุดวันเสาร์–อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามปฏิทินราชการ 
  • ในบางโครงการอาจต้องเดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ เช่น ลงพื้นที่สำรวจหรือขุดค้น ซึ่งเวลาทำงานอาจปรับเปลี่ยนได้ตามแผนงานและลักษณะของแต่ละโครงการ
  1. พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีความเข้าใจหลักการของวิทยาศาสตร์และตรรกะทางคณิตศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ
  2. ความรู้ทางธรณีวิทยาเบื้องต้น รู้จักลักษณะชั้นหิน หมวดหิน การลำดับชั้นหิน (Stratigraphy) และการเกิดของแหล่งฟอสซิล เพื่อระบุอายุและสภาพแวดล้อมของซากดึกดำบรรพ์
  3. ความรู้ทางชีววิทยา กายวิภาค และสัณฐานวิทยา ใช้ในการเปรียบเทียบซากดึกดำบรรพ์กับสัตว์ที่ยังมีชีวิต เพื่อจำแนกชนิด ลำดับสายวิวัฒนาการ หรือศึกษาพฤติกรรมในอดีต
  4. ทักษะการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ การตัดตัวอย่างเป็นแผ่นบาง (Thin Section) การใช้กรดกัดหิน การใช้ปากกาลมในห้องแล็บ ฯลฯ เพื่อเตรียมตัวอย่างอย่างเหมาะสม
  5. จินตนาการและการคิดแบบองค์รวม เนื่องจากการพบฟอสซิลมักเป็นเพียงบางส่วน ต้องมีทักษะในการจินตนาการภาพรวมของสิ่งมีชีวิตจากชิ้นส่วนเล็ก ๆ
  6. ความละเอียดรอบคอบ ในการสังเกต วิเคราะห์ และจดบันทึกข้อมูลในสนามและในแล็บ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำวิจัยคุณภาพสูง
  7. ทักษะการสื่อสารและการเขียนวิชาการ เพื่อจัดทำรายงาน ตีพิมพ์บทความ และสื่อสารองค์ความรู้กับสาธารณชนหรือเพื่อนร่วมงานต่างสาขา
  8. ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะการทำงานข้ามสาขากับนักธรณีวิทยา นักชีววิทยา ฯลฯ ในภาคสนามและห้องปฏิบัติการ
  9. ความอดทนและความมุ่งมั่น เนื่องจากการขุดค้นภาคสนามต้องใช้เวลา แรงกาย และความอดทนสูง อีกทั้งการวิเคราะห์หรือรอผลวิจัยมักใช้เวลานาน
  • ผลตอบแทน 
    • เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 18,000 บาท/เดือน สำหรับผู้จบระดับปริญญาตรีและทำงานในหน่วยงานรัฐ เช่น กรมทรัพยากรธรณี
    • รายได้สูงขึ้นตามระดับการศึกษาและประสบการณ์ เช่น หากจบปริญญาโทหรือเอก อาจเริ่มต้นได้สูงกว่า และสามารถรับงานวิจัยเพิ่มเติม
    • มีเบี้ยเลี้ยงภาคสนามและค่าตอบแทนเฉพาะกิจ ในกรณีออกสำรวจ ขุดค้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการเฉพาะ
    • หากเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย จะมีเงินเดือนตามระดับตำแหน่งวิชาการ พร้อมโอกาสรับทุนวิจัยและรายได้จากการตีพิมพ์หรือบรรยาย
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักบรรพชีวินวิทยา
    • มีเส้นทางเติบโตในสายวิชาการและราชการ ตั้งแต่นักวิชาการ นักวิจัย หัวหน้าโครงการ จนถึงระดับบริหารนโยบายด้านวิทยาศาสตร์หรือทรัพยากรธรรมชาติ
    • สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น วิวัฒนาการไดโนเสาร์ ไม้กลายเป็นหิน หรือชีวภูมิศาสตร์โบราณ
    • ต่อยอดสู่สายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พิพิธภัณฑ์ การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา หรือการสื่อสารวิทยาศาสตร์
    • มีโอกาสทำงานวิจัยในระดับนานาชาติ ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ
  • ความท้าทายของอาชีพนักบรรพชีวินวิทยา
    • ต้องมีใจรักในงานและความอดทนสูง เนื่องจากการขุดค้นภาคสนามและการศึกษาวิจัยใช้เวลานานและต้องละเอียดรอบคอบ
    • ตัวอย่างฟอสซิลมักไม่สมบูรณ์ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงในการจินตนาการและเปรียบเทียบกับตัวอย่างอื่น
    • งานวิจัยบางประเภทมีลักษณะทำลายตัวอย่าง เช่น การทุบ บด หรือใช้กรดละลาย ทำให้ต้องคำนวณความคุ้มค่าในการวิเคราะห์
    • ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและจำนวนตำแหน่ง องค์กรที่รองรับมีจำนวนจำกัด
    • ต้องสื่อสารผลการวิจัยให้น่าสนใจและเข้าใจง่าย เพื่อให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าของงานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับอดีต
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพนักบรรพชีวิน
    • BLACK DOT. (2025, Feb 14). นักบรรพชีวินคนแรกของประเทศไทย ผู้ขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ | PERSPECTIVE RERUN EP8/2019 [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=O4PPHEJ3rtU 
    • DoproMedia. (2024, May 31). นักบรรพชีวินวิทยา “อาชีพที่ต้องขุดคุ้ยอดีต” I Moving Forword อาชีพนำทาง [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=P-7f2CXiBvM 
  • พี่ต้นแบบอาชีพอาชีพนักบรรพชีวินวิทยา [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568]