สถาปนิกภายใน

BRAND'S BRAIN CAMP

สถาปนิกภายใน

สถาปนิกผู้ทำหน้าที่รวบรวมความต้องการของผู้ใช้มมาออกแบบ Space หรือ ‘ที่ว่าง’ ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ให้งานออกมาสวยงาม แก้ปัญหาจากการใช้พื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ และตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด

Interior_design_pana_9eb2c2ca78
  • ออกแบบและนำเสนอลงบนแผ่นกระดาษหรือหน้าจอ สามารถอธิบายและถ่ายทอดความคิดของตัวเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้ สามารถดำเนินการตรวจสอบความเป็นไปของการก่อสร้าง การดูงบของผู้ว่าจ้างและการประเมินค่าก่อสร้างของผู้รับเหมา ตลอดจนการออกไปยังพื้นที่หน้างานเพื่อแนะนำและหาแนวทางแก้ไขร่วมกับช่างก่อสร้างหากเจอปัญหาหน้างาน
  • เป็นตัวกลางที่ดีในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ออกแบบเพื่อเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องในสาขาอาชีพอื่น ให้มีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างผลงานให้ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้มากที่สุด
  • ความแตกต่างระหว่างสถาปนิกที่ทำงานประจำกับฟรีแลนซ์ อาจขึ้นอยู่กับความสามารถและจำนวนบุคลากรที่เพียงพอต่อการทำงานโปรเจกต์นั้นๆ เช่น ฟรีแลนซ์อาจจะรับงานในระดับสเกลที่อยู่อาศัยได้ อาคารสำนักงาน ส่วนกลางของพื้นที่สาธารณะบางส่วน แต่ถ้าพื้นที่หรือปริมาณงานมากเกินกว่าที่ 1 คนจะรับไหว ก็ต้องมีตัวช่วย เช่น สร้างทีมเอง หรือว่าจ้าง Outsource เพื่อช่วยในบางขั้นตอน หากเราจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองไม่ได้ โดยปกติผู้ว่าจ้างจะเลือกบริษัทที่มีความพร้อมมากกว่า ทั้งในด้านกำลังคน ระบบการทำงาน เมื่อเทียบระยะเวลากับค่าใช้จ่าย ซึ่งทุกอย่างถือเป็นต้นทุนของผู้ว่าจ้างที่จะพิจารณา เป็นต้น
  • รวบรวมความต้องการของลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง ประเมินเวลาและปริมาณงานที่ต้องทำคร่าวๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรับหรือแนะนำให้คนอื่นรับช่วงต่อ
  • เสนอราคาค่าออกแบบ
  • ตกลงการว่าจ้าง แจกแจงรายละเอียด และวางระยะเวลาของแผน (Timeline) ว่าจะนัดคุยงานหรือส่งงานกี่ครั้ง แต่ละครั้งจะนำเสนออะไรบ้าง ด้วยวิธีใด (นำเสนอแบบออนไลน์หรือต่อหน้า)
  • เมื่อข้อตกลงทุกอย่างเรียบร้อย ก็เริ่มทำงาน
    • สอบถามความสนใจ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล (อาจเจาะลึกมากกว่าขั้นตอนแรก ที่เป็นเพียงความต้องการขั้นต้นเพื่อนำมาประเมินพื้นที่ใช้สอย และความเป็นไปได้ในการออกแบบ) 
    • วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ เพื่อหาแนวทางรูปแบบที่คาดว่าจะตรงกับความต้องการนั้นมากที่สุด
    • บางงานที่เป็นงานรีโนเวท (ปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยพื้นที่เดิม) อาจต้องมีการเดินทางไปดูสถานที่จริง โดยอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะไปช่วยตรวจสอบด้วย เช่น วิศวกรโครงสร้างอาคาร หรืองานระบบที่เกี่ยวข้อง เพราะอาคารเก่าบางแห่งอาจไม่แข็งแรงพอที่จะทำอะไรได้มาก ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์เพิ่มเติมให้สถาปนิกภายในคิดแผนแก้ปัญหาต่อไป
    • เริ่มขั้นตอนการออกแบบ โดยแต่ละคนอาจจะมีวิธีการคิด การวิเคราะห์ที่แตกต่างกันแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
    • จำนวนวันของการทำงานแต่ละงาน จะอยู่ที่การจัดการของสถาปนิกภายในแต่ละคน หรือของแต่ละองค์กร รวมถึงขนาดและความซับซ้อนของงานนั้นๆ บางขั้นตอนอาจจะใช้เวลามากกว่าหนึ่งวัน บางขั้นตอนสามารถรวบมาทำได้หลายอย่างในวันเดียว แต่อาจใช้หลายคนช่วยกันก็ได้เช่นกัน
  • เตรียมแบบที่พร้อมจะนำเสนอ บางกรณีจะเป็นงาน 2 มิติ และอาจมีภาพทัศนียภาพสามมิติบางส่วน แต่ในบางกรณีอาจต้องนำเสนอโมเดลที่เป็นชิ้นงานจริง หรือภาพทัศนียภาพ 3 มิติที่ใกล้เคียงของจริงมากที่สุดหลายภาพ เพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน) 
  • นัดพูดคุยและนำเสนอกับผู้ว่าจ้าง 
  • เลือกวัสดุที่ใช้ในงานออกแบบ เช่น วัสดุปูพื้น กรุผนัง กรุฝ้าเพดาน ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ ดวงโคมดาวน์ไลท์ โคมไฟตกแต่ง โดยบางงานอาจต้องระบุถึงรูปแบบของหน้าตาเพลทปลั๊ก สวิตซ์ หรืออุปกรณ์เฉพาะเช่น เตาเครื่องครัว อุปกรณ์ครัว หรือเครื่องไฟฟ้า ที่ทางผู้ว่าจ้างให้เราช่วยแนะนำ อาจต้องติดต่อขอตัวอย่างวัสดุจริงเพื่อนำมาเทียบเคียงกันโดยการทำ Material Board ให้ผู้ว่าจ้างจินตนาการตามได้ว่าส่วนนี้ภาพรวมจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนเฟอร์นิเจอร์อาจส่งต่อให้เซลล์ หรือไปดูของจริงที่โชว์รูม เป็นต้น
  • สรุปแบบ จบขั้นตอนการออกแบบหรือจบการดีไซน์ 
  • เขียนแบบและลงรายละเอียดการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นบิวท์อินหรืองานตกแต่งพื้น ผนัง ฝ้า รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่นั้นๆ โดยระหว่างนี้ก็จะต้องใช้เวลาคิดในส่วนที่ตอนดีไซน์ยังไม่ได้ลงรายละเอียดครบ โดยอาจจะเป็นคนออกแบบคนเดียวกันที่ทำหน้าที่นี้ หรือส่งต่อให้อีกคนก็แล้วแต่ระบบการทำงาน (สำหรับบริษัท) แต่หากเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องจัดการเองทั้งหมด 
  • ปรับแก้ไขแบบจนเสร็จเรียบร้อย 
  • ส่งแบบให้ผู้รับเหมา หรือบริษัทรับเหมาประเมินราคา โดยอาจจะเป็นการว่าจ้างโดยตรงหรือใช้ระบบประเมินราคา แล้วผู้ว่าจ้างเลือกที่ตรงกับความต้องการมากที่สุดก็ได้ (เรียกขั้นตอนนี้ว่า ‘ประมูลแบบ’  มักมีขั้นตอนนี้สำหรับการทำงานใหญ่ๆ มากกว่างานขนาดเล็ก)
  • ติดตามงานระหว่างการก่อสร้าง อาจมีการนัดเข้าไปดูหน้างานกับผู้ว่าจ้างเป็นครั้งคราวตามข้อตกลง และปรับแก้ไขแบบหากพบจุดที่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น ระยะหน้างานเมื่อทำการรื้อวัสดุกรุเดิมออก มีความแตกต่างจากแบบมาก หรือมีข้อจำกัดในการก่อสร้างจริง ช่างอาจจะนำเสนอวิธีการที่ต่างจากการออกแบบของสถานิก ตรงนี้เป็นขั้นตอนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ร่วมกัน โดยให้ผู้ว่าจ้างเป็นคนอนุมัติหรือให้รับทราบเมื่อมีการปรับแบบด้วยเหตุสุดวิสัยหน้างานทุกครั้ง
  • เมื่อจบขั้นตอนทั้งหมด สถาปนิกภายในจะจัดส่งไฟล์ข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องระหว่างการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อจบงาน 
  • Back up ข้อมูลให้เรียบร้อย เก็บสำรองไว้กับทางผู้ออกแบบ โดยอาจจะกำหนดเองว่าจะลบ (หรือทิ้ง) แล้วเหลือเฉพาะงานที่ใช้จริงไว้กี่ปี หรือเก็บอะไรไว้บ้าง
  1. ผู้ว่าจ้าง ซึ่งในงานสเกลใหญ่ระดับองค์กร อาจได้ประสานงานกับหลายฝ่าย หรือเฉพาะแค่ผู้ประสานงานก็ได้
  2. วิศวกร (Engineer) ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรโยธา วิศวกรงานระบบ (ประปา ไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ)  หรือแม้แต่วิศวกรสิ่งแวดล้อมสำหรับบางโปรเจกต์
  3. สถาปนิก (Architect)
  4. ภูมิสถาปนิก (Landscape Architect)
  5. เซลล์ (Sales) หรือผู้ชำนาญในเรื่องของวัสดุก่อสร้างนั้นๆ
  6. ผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง (Furniture and decoration accessories supplier)
  7. ผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor) โฟร์แมน (Foreman) ช่างก่อสร้าง (Mason)
  8. พนักงานบัญชี ธุรการ หรือคนทำหน้าที่เบิกจ่ายค่าออกแบบ (Accounting Officer) กรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นองค์กร หรือบริษัท
  9. ซินแสและผู้ชำนาญทางด้านความเชื่อ (Feng shui master) แล้วแต่ความศรัทธาของผู้ว่าจ้าง 
  10. ฝ่ายดูแลอาคาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยอาคาร (Building department) กรณีต้องเข้าไปตรวจงานก่อสร้างตอนช่วงค่ำ เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงาน
  11. สถาปนิกภายใน (Interior Architect) หรือมัณฑนากร (Interior Designer) หากงานนั้นมีหลายทีมที่เกี่ยวข้อง และต้องทำร่วมกัน
  12.       อาชีพอื่นๆ ตามโจทย์งานที่ได้รับ เช่น 
    – งานออกแบบพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ จะได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือภัณฑารักษ์ (Curator) 
    – งานออกแบบครัวที่มีลักษณะเฉพาะอย่าง Fine dining, Buffet line ในโรงแรม จะได้ทำงานกับเชฟ (Chef) และผู้จัดการร้าน (Manager)
    – งานออกแบบโรงเรียนเด็กอนุบาลหรือประถม จะได้ทำงานกับครู (Teacher) เพราะสเกลทุกอย่างจะเล็กและมีข้อควรระวังเพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัย
    – งานออกแบบซาลอนหรือร้านทำผม จะได้ทำงานกับช่างตัดผม (Barber) เพื่อศึกษาขนาดและระยะของเตียงสระผมหรือเก้าอี้ตัดผม เป็นต้น
  • หากเป็นสถาปนิกภายในที่สังกัดบริษัท จะเข้าทำงานที่ออฟฟิศ หากเป็นฟรีแลนซ์จะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยอาจต้องออกนอกสถานที่เพื่อไปประชุม พบลูกค้าและดูสถานที่จริง
  • เวลาทำงาน เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด แต่อาจยืดหยุ่นได้เพื่อเอื้อให้สถาปนิกภายในและผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกตรงกัน
  1. มีความรู้เรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ตามหลักสูตรวิชาชีพ
  2. มีทักษะการสื่อสาร
    1. การฟัง เพื่อเก็บรายละเอียดและจับประเด็นต่างๆ
    2. การพูด ทั้งเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจความคิดของเรา และการพูดสอบถามเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่แท้จริงของผู้ว่าจ้าง
    3. การเขียน การวาด ไม่จำเป็นต้องวาดสวยแต่ต้องวาดให้รู้เรื่อง สื่อสารเข้าใจกันได้
    4. ภาษากาย ช่วยเสริมบุคลิกภาพและความน่าเชื่อถือ
  3. มี Sence ด้านความงาม (Esthetics)
  4. มัทักษะการประสานงาน
  5. มีวินัยและตรงต่อเวลา รวมถึงการสร้างมาตรฐานให้ตัวเอง เพื่อเป็นภาพจำที่ดีแก่ผู้ว่าจ้างและการแนะนำไปยังผู้อื่น 
    ***พึงระลึกเสมอว่า งานที่ดี คืองานที่เสร็จและตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน (หรือผู้ว่าจ้าง)
  6. มีความชัดเจน ในบางสถานการณ์ สถาปนิกภายในต้องมีความมั่นคงในความคิดบนพื้นฐานความเหมาะสมที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้ว เพื่อให้งานดำเนินไปหรือเสร็จออกมาในแบบที่ควรจะเป็น หรือดีที่สุดที่สามารถเป็นไปได้
  7. เคารพตัวเอง โดยการให้เวลาในการจัดสรรกิจกรรมที่ทำให้กายและใจพร้อมที่จะใช้ความคิดอย่างเต็มที่ และเคารพต่อผู้อื่นทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าจ้างที่ให้ค่าจ้างเรา หรือช่างก่อสร้างที่ให้ความรู้เราในเทคนิคบางอย่างที่เราเองก็อาจจะไม่เคยรู้
  8. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความนอบน้อมและรู้กาลเทศะ จะทำให้สถาปนิกภายในได้ความรู้ใหม่ๆ จากคนมากมายเพื่อไปต่อยอดกับงานต่อๆ ไปได้อีกมาก
  9. มีความใฝ่รู้ หมั่นติดตามเทรนด์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะสาขาการออกแบบ แต่หมายถึงการเสพงานศิลป์ที่จะช่วยฝึกทักษะด้านอื่นๆ ของเราได้ (แต่ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ)
  10. มีความกล้าในการทำสิ่งต่างๆ อย่างรู้กาลเทศะ กล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
  • โอกาสการเติบโตในสายอาชีพนี้ จะเริ่มจากระดับจูเนียร์ ที่ทำหน้าที่บางส่วนของโปรเจกต์ พัฒนาความสามารถจนเลื่อนขั้นเป็นซีเนียร์ ดูแลทีมและโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจขยับขึ้นไปเป็นระดับบริหาร ผู้ถือหุ้นบริษัท หรือออกไปตั้งบริษัทของตัวเอง
  • คุณค่าที่ได้จากการทำอาชีพสถาปนิกภายใน คือ การได้พบปะผู้คนและการฝึกทักษะการถ่ายทอดความคิดของเรา และเกิดความภูมิใจจากการได้เห็นสิ่งที่เคยคิดอยู่ในหัวของเรา ถูกสร้างขึ้นมาแล้วมีประโยชน์ ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ใครบางคน หรือทำให้สถานที่บางแห่งกลับมามีชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ความท้าทายที่อาจพบจากการทำอาชีพนี้ คือ การแบ่งเวลาชีวิตและการตัดจบกระบวนการคิด ที่สถาปนิกภายในจะต้องจัดการให้ตัวเองสามารถคิดออกแบบงานและลงมือทำโดยที่ไม่ต้องกลับไปทบทวนหาแนวทางอื่นอีก ภายใต้ขอบเขตเวลาและงบประมาณที่มี เพื่อป้องกันปัญหาการทำงานไม่ทันหรือทำทันแต่งานที่ออกมาไม่ได้คุณภาพที่ดีพอแก่การนำเสนอ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่อาจจะเสื่อมลงก่อนวัยจากการหักโหมเกินกำลัง
  • ผลตอบแทนจะมีในรูปแบบเงินเดือน และสวัสดิการตามนโยบายขององค์กรที่สังกัด เงินเดือนในช่วงแรกจะยังไม่สูงมาก เพราะเป็นช่วงที่เน้นสะสมความรู้และประสบการณ์ ค่าตอบแทนจะสูงขึ้นตามความสามารถในการรับงานออกแบบด้วยตนเอง ความรับผิดชอบในหน้าที่สถาปนิกภายในอย่างเต็มตัวตั้งแต่ต้นจนจบ หรือขึ้นเป็นระดับซีเนียร์นำทีม หากเป็นฟรีแลนซ์จะได้เงินตอบแทนรายโปรเจกต์ตามที่ตกลงไว้
  • ท่องโลกออนไลน์บ่อยๆ เพื่อดูและอ่านบทความจากเว็บไซต์ที่เขียนเล่าเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมภายในและอาจรวมไปกับสาขาอื่น ๆ เช่น Designboom (https://www.designboom.com/) , ArchDaily (https://www.archdaily.com/) , art4d (https://art4d.com/) , Dezeen (https://www.dezeen.com/), Architizer (https://architizer.com/) ฯลฯ และเมื่อเราสนใจบทความไหนหรืองานใด ให้ตามไปดูว่าใครทำ ใครออกแบบ คิดด้วย Concept อะไร และทำไมถึงทำสิ่งนี้ขึ้น หรืออาจเอาชื่อสถาปนิกไปสืบค้นต่อว่าเขาทำงานอะไรอีกบ้าง

มัธยมศึกษาตอนปลาย

  • สายวิทย์-คณิต
  • สายศิลป์-คำนวน
  • สายศิลป์-ภาษา
  • ปวช. หรือเทียบเท่า

ปริญญาตรี เช่น

  • คณะมัณฑนศิลป สาขาการออกแบบภายใน 
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน 
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง สาขาสถาปัตยกรรมภายใน
  • คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน 
  • วิทยาลัยการออกแบบ สาขาการออกแบบภายใน
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบภายใน

ปริญญาโท เช่น

  • หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน

 

*ข้อมูล ณ ปี 2567