ผู้กำกับภาพยนตร์

BRAND'S BRAIN CAMP

ผู้กำกับภาพยนตร์

ผู้กำหนดทิศทาง (Direction) ของภาพยนตร์ และทำหน้าที่ตัดสินใจทุกรายละเอียด ทุกความเป็นไปที่ผู้ชมจะได้เห็นบนจอ

Recording_a_movie_pana_fcdb4fefcf
  • ดูภาพรวมของภาพยนตร์ กำหนดทิศทางและสื่อสารให้ทีมงานเข้าใจตรงกัน เช่น ต้องการภาพแสงสีประมาณไหน เพื่อสื่ออารมณ์อย่างไร เป็นต้น โดยผู้กำกับต้องสามารถอธิบายเหตุผลที่มาของความต้องการได้ สั่งงานให้ทีมงานจัดไฟและถ่ายทำให้ภาพออกมาตามที่ต้องการได้ 
  • ตัดสินใจเรื่องหลักๆ ในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการสร้างภาพยนตร์ เช่น เลือกทีมงาน เลือกนักแสดง เลือกอุปกรณ์ ตัดสินใจว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนการตัดสินใจในรายละเอียดจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายต่างๆ

ขั้นตอนการทำงานที่นำมาเสนอนี้ เป็นขั้นตอนการทำงานในการสร้างภาพยนตร์ความยาว 1.5 – 2 ชั่วโมง ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ โดยทุกขั้นตอนการทำงานรวมกัน อาจใช้เวลา 1.5 – 2 ปี

  • มีโจทย์ตั้งต้นหรือประเด็นที่จะทำภาพยนตร์ โดยอาจเป็นโจทย์ที่บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ (ค่ายหนัง) กำหนดมา หรืออาจเป็นแนวคิดของผู้กำกับเองที่ไปนำเสนอกับบริษัทก็ได้
  • หาทุนสร้าง หากรู้จักธรรมชาติและแนวการทำงานของตนเองและนายทุน ก็จะสามารถจับคู่หาทุนสร้างได้อย่างเหมาะสม และทำให้ภาพยนตร์นั้นเกิดขึ้นมาได้ เช่น ผู้กำกับที่ต้องการทำภาพยนตร์ที่เข้าถึงคนได้จำนวนมากในประเทศไทย ควรไปหานายทุนหรือค่ายหนังที่มีรสนิยม จุดมุ่งหมาย หรือความเชื่อใกล้เคียงกัน ในขณะที่บางประเด็นที่ต้องการนำเสนอเป็นภาพยนตร์อาจจะเหมาะสมกับการฉายในต่างประเทศ ให้คนต่างชาติหรือกลุ่มคนดูภาพยนตร์อิสระดู (ซึ่งรวมทั้งโลกแล้วอาจเป็นกลุ่มผู้ชมที่มีจำนวนเยอะมาก) เหมาะกับการไปหานายทุนต่างชาติมาร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์ เป็นต้น
  • เมื่อเจอผู้ลงทุนหรือค่ายหนังแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นการพัฒนาแก่นของภาพยนตร์ร่วมกันด้วยการเขียนเป็นเรื่องย่อ โดยตัวผู้กำกับเอง หรือทีมเขียนบทที่ทางค่ายหนังสนับสนุนมา
  • จากเรื่องย่อจะเริ่มขยายรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องย่อที่ยาวขึ้น กลายเป็นโครงเรื่องขยาย (Treatment) ที่มีรายละเอียดเหตุการณ์ที่จะเกิดในเรื่อง และพัฒนาไปเป็นบทภาพยนตร์ (Screenplay) ที่มีรายละเอียดการดำเนินเรื่อง มีบทสนทนา ซึ่งขั้นตอนการทำงานนี้ เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลายาวนานที่สุด เพราะอาจมีการตรวจแก้ เขียนใหม่หลายรอบ
  • ในขณะที่เริ่มเขียนบทภาพยนตร์ ก็จะเริ่มทำงานช่วงเตรียมการถ่ายทำ (Pre-Production) ควบคู่ไปด้วย เช่น หาทีมงาน เลือกนักแสดง ติดต่อคิวถ่ายทำ หาสถานที่ถ่ายทำ หาและเลือกความเหมาะสมทั้งหมดที่ควรจะเกิดขึ้นในการถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น
  • แปลงบทภาพยนตร์ที่ผ่านการพิจารณาแล้วให้เป็นบทถ่ายทำภาพยนตร์ (Shooting Script) ที่มีรายละเอียดวิธีการถ่ายทำ เช่น มีรายละเอียดมุมกล้อง วิธีการเคลื่อนที่ของกล้อง ขนาดของภาพ ลักษณะของแสง เวลาที่ถ่ายทำ เป็นต้น
  • นำบทภาพยนตร์ไปทำเป็นบอร์ดภาพนิ่ง (Storyboard) ที่วาดให้เห็นภาพที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อให้ทีมงานและนักแสดงเห็นภาพตรงกัน ทั้งนี้การทำงานของผู้กำกับบางคนอาจไม่มีขั้นตอนนี้ บางคนอาจบอกมุมที่จะถ่ายทำที่หน้างาน โดยไม่มี Storyboard ก็ได้
  • ขั้นตอนถ่ายทำ (Production) ออกกองถ่ายทำโดยใช้เวลาแล้วแต่เนื้อเรื่องและสถานที่ โดยเฉลี่ยใช้เวลาถ่ายทำแต่ละเรื่องประมาณ 3 – 4 เดือน จำนวนคิวถ่ายทำ 20 – 25 คิว
  • ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-Production) เป็นช่วงเวลาการตัดต่อ ทำสีภาพ ทำเพลงประกอบ ทำเสียง ทำภาพเทคนิคพิเศษ ทำภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน 
  • ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ ทางค่ายหนังอาจจะมีทีมสร้างสรรค์มาช่วยคิดวิธีการสื่อสารที่ช่วยประชาสัมพันธ์ รวมถึงทำการตลาด เพื่อทำให้คนอยากมาดูภาพยนตร์ หรือทางผู้กำกับจะมีส่วนร่วมในการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ด้วยก็ได้ 

ผู้กำกับภาพยนตร์ทำงานร่วมกับหลากหลายอาชีพมากเพื่อให้เกิดเป็นงานชิ้นหนึ่ง ตัวอย่างอาชีพต่างๆ อาจแบ่งตามช่วงเวลาการทำงานดังนี้

ช่วงก่อนถ่ายทำภาพยนตร์ อาจทำงานร่วมกับอาชีพต่าง ๆ ดังนี้

  • คนเขียนบท (Scriptwriter) คนเขียนบทภาพยนตร์ (Screenwriter) ผู้ตรวจแก้บท (Script Doctor)
  • ผู้หาสถานที่ถ่ายทำ (Location manager)
  • ผู้จัดหานักแสดง (Casting)
  • นักแสดง (Cast)
  • ผู้สอนและกำกับการแสดง (Acting Coach) รวมไปถึงผู้สอนนักแสดงที่เป็นเด็กหรือสัตว์
  • ผู้จัดหาเสื้อผ้านักแสดง (Costume)

ช่วงถ่ายทำภาพยนตร์

  • ผู้ควบคุมการผลิตการถ่ายทำ (Producer)
  • ผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistance Director)
  • ผู้กำกับภาพ (The Director of Photography) ช่างภาพ (Camera Operator) ผู้ช่วยควบคุมกล้อง (Assistant Cameraperson)
  • ผู้กำกับแสง (Lighting Director) ช่างจัดแสง ช่างไฟ
  • ผู้กำกับเสียง (Sound Director) ผู้บันทึกเสียง (Sound Recorder, Boom Man)
  • ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ผู้เตรียม/จัดทำอุปกรณ์ประกอบการถ่ายทำ (Prop Master)
  • ช่างแต่งหน้า (Makeup Artist) ช่างทำผม (Hair Stylist) ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษต่างๆ (Special Effect Makeup Artist)

ช่วงหลังถ่ายทำภาพยนตร์

  • ผู้ลำดับภาพ (Editor)
  • ผู้ทำเพลงประกอบ (Film Composer) 
  • ผู้ทำภาพด้วยเทคนิคพิเศษ (Visual Film Effect) หรือคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphic – CG)
  • ผู้คิดงานสร้างสรรค์ (Creative) เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์

สถานที่ทำงานขึ้นอยู่กับว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนไหน ตัวอย่างสถานที่และเวลาทำงานในแต่ละวัน ในแต่ละขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ของผู้กำกับมีดังนี้

  • ขั้นตอนการเขียนบท (Screenwriting)
    • เวลาทำงาน 9:00 – 18:00น. ที่ออฟฟิศ
    • ช่วงที่ระดมความคิดจะเขียนบทด้วยกันกับทีม มีการประชุม เขียนบทร่วมกันขึ้นจอในห้องประชุม ดูภาพยนตร์ต่าง ๆ เพื่อหาแนวคิด (Idea)
    • เมื่อคุยกับทีมเป็นที่เข้าใจแล้ว เป็นช่วงแยกกันเขียน เรียบเรียงสิ่งที่ได้คุยกันไปแล้ว
    • มีการประชุม ค้นคว้าสัมภาษณ์เพิ่มเติม เช่น หากทำภาพยนตร์เกี่ยวกับนักบินอวกาศก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม สัมภาษณ์คนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกับนักบินอวกาศ ดูภาพยนตร์หรือละครซีรีส์ (Series) เพิ่ม เป็นต้น
  • ขั้นตอนเตรียมถ่ายทำ (Pre-Production)
    • เวลาทำงาน 9:00 – 18:00น. ที่ออฟฟิศ
    • ช่วงเช้าเขียนบทถ่ายทำภาพยนตร์
    • ช่วงบ่ายดูเทปบันทึกการแสดง เพื่อเลือกนักแสดง (Casting) อาจจะวันละ 5 – 6 คน
    • ช่วงเย็นดูสถานที่ที่ฝ่ายสถานที่ส่งมาให้ดูและเลือก 
  • ขั้นตอนถ่ายทำ (Production)
    • เวลาและสถานที่ทำงานไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับคิวการถ่ายทำ มักเริ่มทำงานตั้งแต่ตอนเริ่มมีแสงอาทิตย์ ถ่ายทำทั้งวันจนแสงอาทิตย์หมด วันละ 10 – 12 ชั่วโมง
    • หากเป็นการถ่ายทำช่วงเวลากลางคืน จะเริ่มต้นทำงาน 18:00น. ถ่ายทำ 12 ชั่วโมง จนถึง 6:00น. ของอีกวัน
    • หากถ่ายทำในโรงถ่ายทำ (Studio) ก็จะทำงานเวลาปกติ โดยไม่จำเป็นต้องอิงเวลาของแสงอาทิตย์
  • ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-Production)
    • เวลาทำงาน 9:00 – 18:00น. ที่ออฟฟิศ และห้องตัดต่อ 
    • ไปดูการตัดต่อ การทำเสียง ฟังเพลงประกอบ
    • ตรวจดูการทำ CG หรือภาพเทคนิคพิเศษ เช่น ลบป้ายโฆษณา ลบริ้วรอย เช็กดูว่าลบเรียบร้อย เนียนหรือไม่ เป็นต้น
  1. มีความสามารถในการสื่อสาร ผู้กำกับต้องสื่อสารกับคนจำนวนมาก ตั้งแต่นายทุน ทีมงาน นักแสดง อย่างน้อยต้องสามารถเล่าให้เข้าใจได้ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ต้องการของแบบไหน อยากจะให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร เพราะถ้ามีเหตุและผลอธิบายได้อย่างชัดเจน ก็จะช่วยให้การทำงานราบรื่น
  2. มีความรู้เรื่องเทคนิคการสื่อสาร จิตวิทยาการสื่อสาร รวมถึงประสบการณ์การทำงานและชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมทักษะการสื่อสาร และทำให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น
  3. สามารถตัดสินใจได้ดี โดยธรรมชาติของอาชีพผู้กำกับนั้นต้องตัดสินใจตลอดเวลา ซึ่งเป็นการตัดสินใจด้วยหลักการและเหตุผลบางอย่าง (แม้การใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการตัดสินใจ ก็ถือเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง) โดยผู้กำกับต้องสามารถอธิบายเหตุผลนั้นๆ ให้กับทีมงาน นักแสดง และผู้อื่น เข้าใจได้ด้วย ว่าทำไมจึงเลือกสิ่งนั้น ตัดสินใจเช่นนั้น 
  4. เป็นคนที่มีความคิดเห็นในสิ่งต่างๆ มีประสบการณ์ชีวิต มีวิธีการมองโลก มีประเด็นที่ต้องการเล่า อยากถ่ายทอด ต้องการสื่อสาร
  5. ผู้กำกับไม่จำเป็นต้องเรียนภาพยนตร์มา นอกจากต้องการที่จะไปทำงานด้านวิชาการหรือเป็นอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ แต่จำเป็นต้องมีความรู้ในการผลิตและกำกับภาพยนตร์ เพื่อทำงานร่วมกับหน้าที่ตำแหน่งอื่นๆ อาชีพอื่นๆ ที่ทำภาพยนตร์ร่วมกัน 
  6. มีบุคลิกเป็นคนช่างคิด มีความรู้สึกดื่มด่ำ หรืออินมาก ๆ กับหลาย ๆ เรื่อง มีความคิดเห็นกับหลาย ๆ เรื่อง มีเรื่องที่อยากจะพูดหรืออยากจะเล่าให้ผู้อื่นได้รับรู้
  7. สามารถเล่าความรู้สึกเป็นภาพได้ สามารถเล่านามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม เล่าเรื่องต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เล่าแล้วผู้รับสารสามารถมองเห็น สัมผัสได้ถึงรูปรสกลิ่นเสียง
  8. หากมีทักษะด้านดนตรีบ้างจะเป็นประโยชน์มาก เพราะหนังเป็นงานในมิติของเวลาและพื้นที่ (Time and Space) ดนตรีจะมีส่วนช่วยในการตัดต่อ คิดกำหนดจังหวะ การแสดงการเคลื่อนไหว ความช้าเร็วในงาน คนที่เคยจับเครื่องดนตรีมาบ้างเมื่อมาทำภาพยนตร์ งานจะมีจังหวะที่ดี
  9. สิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์การทำงานของผู้กำกับ คือ ผลงานที่เคยได้ทำมาก่อน ไม่ใช่เกรดเฉลี่ยจากผลการเรียน
  • การทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องเหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าเรื่องต่อไปจะประสบความสำเร็จหรือไม่ การทำงานให้ดีได้ไปตลอดชีวิตการเป็นผู้กำกับจึงเป็นเรื่องยาก
  • หากงานที่ทำได้รับความสนใจจากต่างประเทศ จะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้มีความสามารถระดับโลก หรือได้ทำงานระดับต่างประเทศได้ อาจตั้งจุดมุ่งหมายนี้เป็นจุดมุ่งหมายในอาชีพ (Career Path) ก็ได้
  • ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงขึ้น มีเด็กจบใหม่มาเป็นผู้กำกับเยอะขึ้น มีตัวเลือกเยอะขึ้น คนเก่งเยอะขึ้น ผู้ที่เข้ามาเป็นผู้กำกับก่อนก็ต้องอัพเดท ต้องเก่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี เพื่อพัฒนาฝีมือไปสู่ระดับโลกกันต่อไป
  • ผู้กำกับสามารถทำงานกำกับชิ้นงานได้หลายแขนง อาจเป็นภาพยนตร์โฆษณา สารคดี มิวสิควีดีโอ ละครโทรทัศน์ ฯลฯ
  • แนวโน้มการทำงานกำกับด้วย AI ไม่น่าจะได้ผลเท่ามนุษย์ เพราะงานกำกับภาพยนตร์มีความละเอียดอ่อนมาก มีการตัดสินใจจำนวนมาก ซึ่งบางทีไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ บางทีอาจใช้ความรู้สึก สัญชาตญาณ หรือประสบการณ์ในการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งนี้ AI น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะพัฒนาให้ทำได้เท่ามนุษย์
  • สถานการณ์โลกอาจมีผลกระทบต่อการสร้างภาพยนตร์ ถ้าโลกไม่สงบก็อาจไม่มีใครมีกะจิตกะใจมาดูภาพยนตร์ ซึ่งในทางกลับกันที่มนุษย์อาจจะโหยหาความบันเทิงเมื่อโลกไม่สงบก็ได้ หรือหากผู้คนมุ่งหาข้อมูลความรู้มากขึ้นก็ส่งผลต่ออาชีพนี้ เพราะผู้กำกับสามารถนำประเด็นต่างๆ มาสร้างเป็นเนื้อหาของงาน (Content) ได้ อาจทำเป็นสารคดีหรือข่าว ซึ่งเป็นรูปแบบของงานกำกับเช่นกัน
  • ในช่วงโควิดมีการทดลองกำกับละครซีรีส์ที่ไม่ได้เจอตัวกันเลย อาศัยการถ่ายทำผ่านทางหน้าจอระบบการประชุมออนไลน์ ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ 
  • รายได้จากการกำกับภาพยนตร์ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับงบประมาณของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แต่จะมีส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่ได้จากการฉายภาพยนตร์ เป็นเงินค่าตอบแทนให้ผู้เขียนบทและผู้กำกับ
  • นอกจากได้ผลตอบแทนเป็นเงินแล้ว อาชีพผู้กำกับยังอาจทำให้ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร หรือกรรมการตัดสิน ทำให้ได้พบคนหลากหลายวงการมากขึ้น ได้พบนักวิชาการตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ได้ต่อยอดเครือข่าย ได้ทำความรู้จักคนกว้างขวางขึ้น รวมถึงอาจได้ไปประเทศที่ไม่เคยไปหรือไปในที่ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ไป ได้ไปเจอวิถีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย
  • สิ่งที่อาจต้องแลกมาจากการทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
    • สุขภาพ ปวดหลัง การทำงาน การถ่ายทำ ทำให้นอนไม่เป็นเวลา ร่างกายเสื่อมสภาพได้เร็ว 
    • ตารางชีวิตอาจจะไม่ค่อยตรงกับเพื่อน แฟน หรือ ครอบครัว ต้องสร้างความเข้าใจและบริหารความรู้สึกและความสัมพันธ์ให้ดี
    • ความเครียดจากการทำงาน ต้องฝึกฝนจิตใจและเข้าใจธรรมชาติของการทำงานอาชีพนี้ เช่น เขียนบทและเตรียมการถ่ายทำมาอย่างดีแต่เมื่อถึงเวลาถ่ายทำกลับพบเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ หรือผิดพลาด เช่น ฝนตก นักแสดงท้องเสีย ไฟดับ สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ เป็นต้น แต่สิ่งที่ควบคุมได้แน่ๆ คือ ตัวผู้กำกับเองที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ไปด้วยการควบคุมทิศทางให้เป็นไปได้ตามที่ต้องการ อาจเปลี่ยนวิธีการสื่อสารแบบที่ยังนำเสนอเรื่องเดิม หรือข้อความหลักยังคงอยู่ ซึ่งอาจได้ผลที่ดีกว่าที่วางแผนไว้แต่แรกก็ได้

No Film School 

https://nofilmschool.com/

เป็นเว็บไซต์รวบรวมคนทำงาน และเกร็ดความรู้ต่างๆ ในการทำหนัง 

 

Every Frame a Painting 

https://www.youtube.com/user/everyframeapainting

ช่องใน YouTube วิเคราะห์ภาพยนตร์ ความรู้และตัวอย่างต่างๆ

 

Vimeo 

https://www.vimeo.com/

เป็นแพลตฟอร์มภาพยนตร์ คลิป โฆษณา งานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่น่าศึกษาแนวความคิด เป็นงานที่ใช้ฝีมือในการผลิต แนะนำให้ลองเริ่มต้นค้นหาเป็นภาษาไทยดูไปเรื่อยๆ Vimeo จะแนะนำงานอื่นๆ ขึ้นมา

 

https://www.youtube.com/channel/UCcHMy8wH_O3p85fn7aEBwug

ช่องที่ทำเนื้อหาเกี่ยวับการวิเคราะห์สื่อบันเทิงทุกอย่าง ทั้ง ภาพยนตร์ เพลง การ์ตูน ผู้กำกับ นักแสดง ภาพวาด ฯลฯ สำหรับศึกษามุมมอง ความคิดในการถ่ายทอดสื่อเหล่านี้

มัธยมศึกษาตอนปลาย

  • เปิดรับทุกสายการเรียน วุฒิจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า

 

ปริญญาตรี เช่น

  • คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง
  • คณะสื่อสารมวลชน หลักสูตรภาพยนตร์ดิจิทัล
  • คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปการละคร
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน
  • คณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง
  • คณะดนตรีและการแสดง สาขาวิชาศิลปะการแสดง
  • คณะใดก็ได้ โดยต้องหาความรู้เกี่ยวกับการกำกับภาพยนตร์จากหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ ฝึกฝนการกำกับภาพยนตร์ สะสมผลงาน และส่งประกวดเพื่อพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง รวมถึงหาโอกาสฝึกประสบการณ์ในวงการงานภาพยนตร์

 

ปริญญาโท เช่น

  • หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปการละคร
  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ

 

*ข้อมูล ณ ปี 2567