เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ

BRAND'S BRAIN CAMP

เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ

ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลและควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อให้การจราจรทางอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นไปตามเวลาที่กำหนด

เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ
  • รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยของเที่ยวบินทั้งในระหว่างการบิน การขึ้น-ลงจอด และการเคลื่อนที่ภายในสนามบิน
  • เฝ้าติดตามตำแหน่งและความสูงของอากาศยานในเขตควบคุมด้วยเรดาร์และระบบคอมพิวเตอร์
  • ให้คำสั่งหรืออนุญาตเครื่องบินในการสัญจรตลอดระยะเขตควบคุม โดยดูแลผ่านระบบเฉพาะในการสื่อสารระหว่างการบิน
  • บริหารจัดการระยะห่างระหว่างเครื่องบินแต่ละลำให้เหมาะสม รวมถึงระยะระหว่างเครื่องบินกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ
  • ประสานงานกับศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศในพื้นที่ใกล้เคียงหรือระหว่างประเทศ เพื่อส่งต่อข้อมูลเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง
  • ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับสภาพอากาศ พิกัดการบิน และข้อมูลความปลอดภัยอื่น ๆ แก่นักบิน
  • บันทึกข้อมูลการควบคุมเที่ยวบิน เช่น การเปลี่ยนความสูง เส้นทาง หรือเวลาในการบิน
  1. รับข้อมูลเที่ยวบิน ตรวจสอบและรับข้อมูลแผนการบินของแต่ละเที่ยวบิน เช่น เส้นทางบิน ความสูง สภาพอากาศ และตารางการบิน เพื่อเตรียมพร้อมในการควบคุม

  2. ตรวจสอบข้อมูลและสถานการณ์การจราจรทางอากาศ ใช้ข้อมูลเรดาร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และรายงานจากหน่วยงานอื่นเพื่อดูภาพรวมการจราจรทางอากาศในเขตรับผิดชอบ

  3. ติดตามตำแหน่งเครื่องบิน ติดตามการเคลื่อนที่ของเครื่องบินแบบเรียลไทม์บนจอเรดาร์ เพื่อป้องกันการชนกันและให้การเคลื่อนที่เป็นไปอย่างราบรื่น

  4. สื่อสารกับนักบิน ออกคให้คำแนะนำแก่นักบิน เช่น การขึ้นบิน การปรับความสูง หรือการเปลี่ยนเส้นทางการบิน

  5. บริหารจัดการระยะห่างระหว่างเครื่องบิน วางแผนและกำหนดระยะห่างระหว่างเครื่องบินแต่ละลำเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกัน และป้องกันความแออัดในเส้นทางบิน

  6. ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ติดต่อกับศูนย์ควบคุมการบินใกล้เคียงหรือหน่วยงานภาคพื้นดิน เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้น (Ground Control) เพื่อประสานการขึ้นลงและเคลื่อนที่ในสนามบิน

  7. เฝ้าติดตามเที่ยวบินตลอดเวลา ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเครื่องบินและสถานการณ์จราจรทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดความผิดปกติ

  8. รับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เครื่องยนต์ขัดข้อง อากาศเลวร้าย หรืออุปกรณ์การบินเสียหาย โดยติดต่อหน่วยงานกู้ภัยและให้คำแนะนำแก่นักบิน

  9. บันทึกข้อมูล บันทึกคำสั่งการบิน การสื่อสารผ่านวิทยุ และข้อมูลการควบคุมเที่ยวบินเพื่อใช้เป็นหลักฐาน ตรวจสอบความถูกต้อง และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน

  1. นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน
  2. นักบินผู้ช่วย
  3. เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ
  4. เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน
  5. เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา
  6. เจ้าหน้าที่การท่าประจำสนามบิน 
  7. เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและกู้ภัย
  8. เจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • สถานที่ทำงาน โดยทั่วไปทำงานที่หอบังคับการบินในสนามบิน หรือศูนย์ควบคุมการบิน 
  • เวลาทำงาน เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศทำงานแตกต่างกันตามขนาดของสนามบิน โดยสนามบินขนาดเล็กมักเปิดให้บริการตั้งแต่ 06:00–22:00 น. ส่วนสนามบินขนาดใหญ่ หรือสนามบินระดับนานาชาติ อาจต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เวลาปฏิบัติงานจริงอาจเปลี่ยนแปลงได้ตาม สภาพจราจรทางอากาศ ระดับความเครียดสะสม จำนวนเที่ยวบินในแต่ละช่วงกฎระเบียบของแต่ละสนามบินหรือศูนย์ควบคุม 
  • การทำงานมักแบ่งการทำงานเป็นกะ (Shift) แต่ละกะมีระยะเวลาโดยรวมประมาณ 12 ชั่วโมง รวมเวลาประจำกะ การประชุมสรุปงาน และการพักเพื่อลดความเครียด และไม่ได้หยุดประจำในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์  และระบบการทำงานมักแบ่งเป็น “ทำงาน 4 วัน หยุด 4 วัน”
  • ในขณะปฏิบัติงาน เวลานั่งควบคุมจอเรดาร์ต่อเนื่องมักไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อรักษาสมาธิและประสิทธิภาพสูงสุดตลอดการทำงาน นอกจากนี้ ในรอบเดือนจะไม่ทำงานเกิน 200 ชั่วโมง ตามข้อกำหนดเพื่อดูแลสุขภาพและภาวะความเครียดของเจ้าหน้าที่
  1. มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวการบิน แผนภูมิ การจราจรทางอากาศ และมาตรการความปลอดภัย
  2. มีความรู้คณิตศาสตร์เบื้องต้นที่สอดคล้องกับการจราจรทางอากาศ เพื่อจัดระยะเครื่องบิน ระยะห่างจากสิ่งกีดขวาง และตารางเวลาเที่ยวบิน
  3. มีความรู้ด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษในระดับการทำงาน และภาษาสากลในการบิน
  4. มีความรู้ด้านอุปกรณ์และระบบเฉพาะเกี่ยวกับการควบคุมการจราจรทางอากาศ
  5. มีทักษะในการปฏบิตังานหลายอย่างได้พร้อมกัน (Multitasking) 
  6. มีทักษะการรับมือกับความกดดันและความเครียด  เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ อารมณ์ของผู้ร่วมงาน ความเร็วในการทำงาน 
  7. มีทักษะการจัดการวิกฤต (Crisis Management)
  • ผลตอบแทน  รายได้ของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศขึ้นอยู่กับ รูปแบบการจ้างงาน ตำแหน่ง ระดับใบอนุญาต (License)  สนามบินที่ปฏิบัติงาน  ข้อบังคับภายในของแต่ละกองและหน่วยงาน และความซับซ้อนของงานจราจรในแต่ละสนามบิน โดยสามารถแบ่งช่วงรายได้ตามลำดับขั้น ดังนี้
    • นักเรียนควบคุมการจราจรทางอากาศ (ATC Trainee)  แบบรัฐวิสาหกิจรายได้ประมาณ 19,000 บาทต่อเดือน  แบบสัญญาจ้าง (ไม่มีสวัสดิการ) รายได้ประมาณ 28,000 บาทต่อเดือน
    • เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศฝึกหัด (OJT – On-the-Job Training) อยู่ในช่วงฝึกปฏิบัติงานจริงภายใต้การดูแล รับค่าตอบแทนเท่ากับช่วง trainee ข้างต้น
    • Controller ระดับ 1 (Junior Controller – มีใบอนุญาต) รายได้ประมาณ 45,000 บาทต่อเดือน และมีค่าพิเศษประจำวิชาชีพ ประมาณ 10,000 บาท ค่าใบอนุญาต ประมาณ 15,000 บาท (แตกต่างตามจราจรของแต่ละสนามบิน) รวมแล้วมีรายได้รวมประมาณ 70,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน
    • Controller ระดับ 2 (Senior Controller)  รายได้ประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน ค่าวิชาชีพและใบอนุญาตเท่ากันกับ Controller ระดับ 1 รวมแล้วมีรายได้รวมประมาณ 85,000 บาท/เดือนขึ้นไป
    • Supervisor / Chief Controller รายได้ขึ้นกับตำแหน่งบริหาร และสนามบินที่รับผิดชอบ โดยมีรายได้จากเงินเดือนประจำ ค่าความชำนาญ เบี้ยพิเศษต่าง ๆ  รายได้สุทธิ (Net) ประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน
    • ผู้อำนวยการกอง หรือระดับบริหารสูง รายได้ต่อเดือนขึ้นอยู่กับโครงสร้างองค์กร มักรวมค่าตำแหน่ง ค่าบริหาร ค่ากะ และเบี้ยพิเศษต่าง ๆ
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ 
    • เติบโตตามสายงาน โดยลำดับจาก ATC trainee → OJT → Controller ระดับ 1 → ระดับ 2 → Supervisor → ผู้อำนวยการกอง 
    • สามารถเติบโตข้ามสายงานภายในองค์กร เช่น ครูฝึก, HR, หรือฝ่ายสนับสนุนอื่น ๆ ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน
    • สามารถเลือกย้ายประเทศไปทำงานได้ เช่น ออสเตรเลีย หากมีใบอนุญาตที่ประเทศนั้นยอมรับ และไม่ติดข้อจำกัดด้านความมั่นคงหรือข้อมูลลับขององค์กร
  • ความท้าทายของอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ  
    • ความกดดันและความเครียดสูง ต้องตัดสินใจเร็วแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และรับมือกับจราจรทางอากาศที่ซับซ้อนตลอดเวลา
    • ความรับผิดชอบสูง ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ และมีส่วนเกี่ยวข้องในการสอบสวนหากเกิดเหตุ
    • เป็นงานเฉพาะทาง ต้องผ่านการสอบและฝึกอบรมอย่างเข้มข้น ใช้เวลาฝึกนานแม้ไม่ต้องจบตรงสาย
    • เวลางานกระทบชีวิตส่วนตัว ทำงานเป็นกะ 12 ชั่วโมง เวลาพักผ่อนไม่แน่นอน อาจส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจ
    • มีความเสี่ยงด้านกฎหมาย หากเกิดความผิดพลาดร้ายแรง อาจต้องรับผิดทั้งทางวินัยและแพ่ง
    • ภาษาอาจเป็นอุปสรรค ต้องเข้าใจสำเนียงและศัพท์เฉพาะจากนักบินหลากหลายเชื้อชาติทั่วโลก
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางกาศ
    • Crew Wings พี่มีนาสอนแอร์. (2025, Jan 3). อาชีพที่ปิดทองหลังพระของอุตสาหกรรมการบิน Air Traffic Controller | Takeoff Talk EP.84  [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=eKGr-Qoo9kE 
    • spin9. (2023, Nov 19). [spin9] เจาะลึก ATC — เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ อาชีพสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน [Video]. https://www.youtube.com/watch?v=XYtMll6oLiQ
  • พี่ต้นแบบอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2568]