นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์

BRAND'S BRAIN CAMP

นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ผู้ที่เชื่อมต่อระหว่างปัญหาหรือความต้องการของผู้คน กับนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์เป็นผู้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเปลี่ยนเป็นสินค้า บริการ เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของผู้คน

Researchers_pana_2_a24199b52e
  • สำรวจและอัพเดทประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังเป็นปัญหาในสังคม มองหาสิ่งที่กำลังติดขัดที่ทำให้ผู้คนมีความยากลำบาก จากนั้นนำเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างความสะดวกสบาย โดยนำเสนอในรูปแบบโครงการวิจัย
  • ประสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ เช่น นักวิทยาศาสตร์, นักประดิษฐ์, ช่าง ฯลฯ เพื่อนำความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในโครงการวิจัยและพัฒนา
  • หาหัวข้อวิจัย หรือปัญหาความต้องการของประชาชนที่สามารถตอบสนองได้ด้วยเทคโนโลยีหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางในการหาหัวข้อ 2 แนวทาง
    • จากความถนัดและความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์เอง 
    • จากนโยบายและแนวทางการวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ว่ากำลังสนใจในประเด็นใดบ้าง
  • ทำความเข้าใจในประเด็นที่ต้องการทำวิจัย ด้วยการเก็บข้อมูลและความคิดเห็นในทุกๆ ด้าน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
  • หาทีมงาน เขียนร่างโครงการวิจัยเพื่อเสนอขอทุนสนับสนุนการวิจัย เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณจึงเริ่มทำการวิจัย
  • ทำการวิจัยตามขั้นตอนการทำวิจัย
    • ทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ค้นคว้าและศึกษางานวิจัยในปัจจุบันว่ามีการทำการวิจัยเรื่องอะไรมาแล้วบ้าง มีประเด็นใดที่ยังไม่เคยมีใครหาคำตอบ หรือประเด็นใดที่สามารถต่อยอดได้
    • สร้างวัตถุประสงค์การวิจัย ชี้ให้เห็นความสำคัญว่าทำไมหัวข้อวิจัยที่เลือกนี้จึงสำคัญและควรค่าแก่การทำการวิจัย
    • ออกแบบการทดลอง สร้างเครื่องมือที่จะใช้ในการทดลอง และลงมือทดลองเพื่อพิสูจน์วัตถุประสงค์ของการวิจัย
    • เผยแพร่งานวิจัยเมื่อได้ผลการทดลอง ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปองค์ความรู้ และเขียนเรียบเรียงเป็นบทความงานวิจัย จากนั้นส่งไปนำเสนอเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ หรือไปนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมสัมนาทางวิชาการต่าง ๆ รวมถึงการนำสินค้าและบริการที่ได้คิดค้นขึ้นไปเผยแพร่ให้มีผู้เข้าถึงได้กว้างขึ้น ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและสร้างคุณค่าให้กับผลงานที่นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ทำการศึกษาและวิจัยมา

นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ทำงานกับหลากหลายอาชีพมาก ทั้งอาชีพในภาคธุรกิจ การตลาด การเมือง เศรษฐศาสตร์ ประชาชน ฯลฯ เนื่องจากการจะสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม ที่เปลี่ยนเทคโนโลยีมาเป็นสินค้าหรือบริการได้ จำเป็นต้องผ่านการศึกษาพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย ยกตัวอย่างอาชีพที่นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ต้องทำงานร่วมด้วย เช่น

  • วิศวกร ช่างผู้เชี่ยวชาญ นักประดิษฐ์ ผู้ที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมา เพื่อพิสูจน์สมมติฐานการวิจัย
  • คนในภาคอุตสาหกรรม ฝ่ายผลิต เจ้าของธุรกิจ
  • ข้าราชการ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
  • กลุ่มเจ้าของทุนวิจัยต่างๆ
  • นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ที่ทำงานวิจัยร่วมกัน
  • ทำงานในบริษัทเอกชน ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในหน่วยงานวิจัยของรัฐ โดยมีที่ทำงานเป็นออฟฟิศและห้องปฏิบัติการวิจัย 
  • เวลาทำงานแล้วแต่หน่วยงาน โดยส่วนมากทำงานเวลา 9:00 – 17:00น.
  • ตามอุดมคติ นักวิจัยจะทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุดวันละ 6 ชั่วโมง โดยอาจทำงานเขียน วิจัย หรืองานสร้างข้อมูลวันละ 3 ชั่วโมง และงานประชุมติดต่อประสานกับผู้อื่นอีก 3 ชั่วโมง
  • หากเป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้วย จะมีชั่วโมงสอนสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับสถาบัน
  1. เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังจับใจความได้ว่าปัญหาหรือความไม่สะดวกสบายที่ผู้คนกำลังประสบอยู่คืออะไร อะไรคือสาเหตุ อะไรคือข้อจำกัดที่มี 
  2. เป็นผู้เก็บข้อมูลที่ดี สามารถจับใจความดึงสาระสำคัญออกมาจากสิ่งที่ได้ฟัง อ่าน หรือพบเจอกับตัวเองเป็นประสบการณ์ตรง รวมถึงความสามารถในการมองเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลและโอกาสต่างๆ ด้วย
  3. มีความสนใจและทำกิจกรรมต่างๆ เช่น มีงานอดิเรก เล่นกีฬา มีสังคมกลุ่มเพื่อน เพื่อรับข้อมูลและประสบการณ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากชีวิตประจำวันที่ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์
  4. มีความสามารถในการใช้ภาษาได้ดี สามารถเลือกใช้ภาษา คำ และไวยกรณ์ ที่เหมาะสมเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่แตกต่างกัน สามารถอธิบายให้กลุ่มผู้ฟังที่มีพื้นฐานแตกต่างกันแต่ละกลุ่มเข้าใจเรื่องเดียวกันได้ด้วยภาษาและวิธีการเล่าที่ต่างกัน เช่น เมื่อต้องนำเสนองานวิจัยต่อกลุ่มนักวิชาการสามารถนำเสนอได้น่าเชื่อถือและมีหลักการ แต่เมื่อนำเสนองานวิจัยนั้นเพื่อขอความร่วมมือกับเกษตรกร ก็สามารถเล่าให้กลุ่มเกษตรกรเข้าใจและให้ความร่วมมือได้ เป็นต้น
  5. มีทักษะและความรู้ในภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารและการหาความรู้อัพเดทข่าวสาร
  6. รักการอ่าน เพื่อความรู้ และเรื่องราวประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตของผู้อื่น
  7. มีความคิดสร้างสรรค์ โดยวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุและผลชัดเจนตายตัว มีกฏเกณฑ์ แต่ในความเป็นจริง เพียงแค่การเปลี่ยนลำดับ เปลี่ยนวิธีการมอง บางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้การทำงานเปลี่ยนไปได้ ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการทดลองเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อให้ได้ผลที่แตกต่างหรือเกิดสิ่งใหม่ได้
  8. มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น เช่น เข้าใจในปัญหาที่แต่ละคนต้องเผชิญ เข้าใจในความต้องการ หรือเข้าใจในข้อจำกัดของผู้อื่น
  9. มีทักษะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อทำโครงการต่างๆ
  10. มีทักษะด้านคณิตศาสตร์ เพราะเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการคำนวณพิสูจน์หาความจริง 
  11. มีความเป็นผู้ประกอบการ สามารถอธิบาย ขอการสนับสนุนโครงการวิจัย สามารถขายของได้
  12. เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์และอัธยาศัยดี สามารถพูดคุยบทสนทนายาวๆ และเข้าสังคมได้ สามารถเจรจาข้อตกลงได้
  13. มีความสงสัยในทุกๆ เรื่อง อยากแก้ปัญหาและหาวิธีข้ามข้อจำกัดต่างๆ 
  14. มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เหตุผล (Critical Thinking)
  15. ไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพเพื่อที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับผลงาน งานวิจัย และความน่าเชื่อถือ
  • เงินเดือนในองค์กรรัฐ
    • ระดับปริญญาตรี 15,000-18,000 บาท
    • ระดับปริญญาโท 20,000-23,000 บาท
    • ระดับปริญญาเอก 40,000-42,000 บาท
  • เงินเดือนในองค์กรเอกชน (ขึ้นอยู่กับบริษัท)
    • ระดับปริญญาตรี 23,000-28,000 บาท
    • ระดับปริญญาเอก 40,000-65,000 บาท
  • นับว่าเงินเดือนน้อยเมื่อเทียบกับเวลาและความพยายามที่ใช้เรียนตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก อัตราการขึ้นเงินเดือนในองค์กรรัฐอาจไม่ทันอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี
  • นักวิทยาศาสตร์สามารถประกอบอาชีพอื่นเสริมนอกเวลาการทำงานประจำ เช่น เป็นติวเตอร์ เป็นที่ปรึกษา หรือ เป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น
  • การทำงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยจะได้ค่าตอบแทนบุคลากรจากทุนวิจัยที่ได้รับ
  • งานและงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ทำ เป็นงานที่มีคุณค่า เป็นสินค้าหรือบริการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนได้
  • หากความสนใจและความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ไม่ตรงกับนโยบาย แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือผู้ลงทุน จะเจอความท้าทายหากมีแผนต่อยอดงานในอนาคต เช่น นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์และเห็ดรา ที่ในปัจจุบันอาจเป็นความเชี่ยวชาญหรือหัวข้อวิจัยที่สังคมต้องการน้อยกว่าอดีต เป็นต้น
  • อาจมีความกดดันในภาพลักษณ์ของอาชีพและความคาดหวังจากสังคม ว่าเป็นอาชีพที่มีความรู้ มีเกียรติ ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนอาจไม่กล้าทำงานนอกกรอบและไม่กล้าทำงานพลาด
  • การทำงานเอกสารใช้เวลามาก และอาจทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรืออาการปวดคอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือข้อมือ จากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง
  • ความเสี่ยงและอันตรายทางร่างกายจากการทดลองนับว่ามีน้อยและปลอดภัย เนื่องจากการทำงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล ต้องมีมาตรการและการจัดการด้านความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานด้วย
  • ปัจจุบันยังไม่มีการรวมตัวเป็นสมาคมหรือสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ไม่มีผู้ดูแลสิทธิและสวัสดิภาพให้กับกลุ่มอาชีพนักวิทยาศาสตร์

TED talk 

https://www.ted.com/talks

https://www.youtube.com/c/TED

เป็นเนื้อหาที่ดี แต่ละคนพูดไม่เกิด 18 นาที มีหลากหลายอาชีพมาพูด 

8 Minutes History 

https://thestandard.co/podcast_channel/8-minutes-history/

ทำไมต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ โดย วิทย์ สิทธิเวคิน | 8 Minutes History EP.0

พอดแคสต์เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เข้าใจว่า ประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันศึกษาและคลั่งไคล้วิทยาศาสตร์มาตั้งแต่อดีต